Posted by: ningnung | December 10, 2007

เค้กบนท้องฟ้า (น.๓๘-๓๙)

ดิโอเมเด, หรือเรียกให้ถูกว่าผู้บังคับการ, หัวเราะขณะรับรองเท้าข้างนั้นมา ท่านนายพลถามคนที่อยู่ในห้องว่าเป็นไปได้ไหมที่หน่วยปฏิบัติการ อี.เอส. ตั้งขึ้นมาเพื่อเปิดร้านขายรองเท้ามือสอง ในบรรดากลุ่มคนที่อยู่ในห้องมีเพียงสองคนคือ ศาสตราจารย์เตเรนซิโอ และศาสตราจารย์รอสซี ที่มองเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์มากกว่าเรื่องตลกขบขัน พวกเขาสังเกตเห็นพื้นรองเท้ามีรูอยู่สองรู: บางทีมนุษย์ดาวอังคารสวมสิ่งที่เหมือนรองเท้านี้ไว้บนศรีษะแทนหมวก โดยให้หนวดรับสัญญานยื่นโผล่ออกมาจากสองรูนี้

แต่นายตำรวจเมเล็ตติ, หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าโอดิสซุสจอมเจ้าเลห์, ซึ่งอยู่ร่วมในวงสนทนามีความคิดบรรเจิดกว่านั้นมาก ไม่สิต้องพูดว่าหลักแหลมจริงๆ

“ท่านทั้งหลาย” เขาพูด “ถ้าจะอนุญาตให้ผมพูดสักหน่อย, ทุกคนต่างรู้กันดีว่าเด็กๆ ไม่รู้จักคำว่าอันตราย พวกเขาแยกแยะไม่ออกว่าสิ่งไหนดีสิ่งไหนชั่ว คนที่เรามั่นใจว่าเป็นศัตรู ก็ที่อยู่บนนู้น บนวัตถุลึกลับนั่นแหละครับ จะไม่คิดหลอกล่อเด็กๆ เช่น ด้วยของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเก็บข้อมูลไปให้พวกเขาเชียวหรือครับ?”

“กรุณาเข้าเรื่องรองเท้า” นายพลเตือน

“ครับ, สำหรับผม ถ้าเด็กขึ้นไปบนนั้น ข้างบนนั่นจริงๆ และระหว่างที่หลบหนีออกมาได้ทำรองเท้าข้างนี้หายไป เรามีวิธีพิสูจน์ง่ายๆ”

“วิธีไหนล่ะ?”

“ให้เด็กทุกคนในหมู่บ้านลองสวมรองเท้าข้างนี้”

“นี่มันนิทานเรื่องซินเดอเรลลานี่นา” ศาสตราจารย์เตเรนซิโอหัวเราะ

“แต่ในนิทานก็มีความจริงซ่อนอยู่เช่นกัน” ศาสตราจารย์รอสซีแสดงความเห็นเพียงเพื่อแย้งว่าอีกฝ่ายผิด

“เอาล่ะ” นายพลตัดบท “คุณจัดการเรื่องลองรองเท้านั่นได้เลย ถ้าคิดไม่ผิด น่าจะได้รับความร่วมมือจากแม่ของเด็กๆ งานน่าจะออกมาดีทีเดียว”

โอดิสซุสจอมเจ้าเล่ห์ห่อรองเท้าด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ แล้วใช้เชือกมัดอย่างแน่นหนาก่อนปิดผนึก และนำไปเก็บในตู้ของห้องสมุดโรงเรียน เขากำชับทหารยามให้เฝ้ามันอย่าให้คลาดสายตาตลอดทั้งคืน

“เป็นความลับทางทหาร” เขาพูด “ห้ามแพร่งพราย”

เมื่อเขากลับถึงบ้าน เด็กๆ เข้านอนกันหมดแล้ว เขาเล่าให้นางเชชิเลียฟังสั้นๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยกเว้นเรื่องรองเท้าข้างนั้น เพราะความลับทางทหารบอกให้ใครฟังไม่ได้แม้กระทั่งภรรยาตนเอง

(มีต่อ)

****
หมายเหตุ:
ชื่อเรื่อง: La Torta in Cielo
ผู้แต่ง: Gianni Rodari
ผู้แปล: Nungning
อ่านฉบับต่อเนื่องได้ที่ “เรือนเพาะชำ”


Responses

  1. เจ้าเลห์
    จัดการเรื่องลองรองเท้า

    คารวะ

  2. สวัสดีค่ะ ท่าน จขส.

    วันนี้แวะมาถามท่านว่า…

    ท่านมีนักแปลในดวงใจไหมคะ ^^
    และเป็นใครเอ่ย (คนไทยเน้อท่าน)

    ส่วนข้าพเจ้า ชอบหลายท่านอยู่นา
    แต่ส่วนใหญ่ก็ รุ่นโน้นนนทั้งนั้นแล
    อย่างเช่น พจนา จันทรสติ, ฤดูร้อน, ปิยะภา ฯลฯ

    มีอีกมีอีก แต่แปะเอาไว้ก่อนค่ะ

  3. สวัสดีค่ะคุณแพท

    ถามคำถามยากจัง
    ข้าพเจ้าอายจังที่จะบอกว่าไม่มีนักแปลในดวงใจเลยเจ้าค่ะ

    สมัยเด็กๆ เวลาอ่านนวนิยายแปล ข้าพเจ้าก็เลือกอ่านอยู่บ้างว่าอ่านเฉพาะงานที่คนนั้นคนนี้แปล ที่เลือกไม่ใช่เพราะเขาแปลดีหรือไม่ดีหรอกเจ้าค่ะ เลือกเพราะเขาเลือกเรื่องแปลได้ถูกใจข้าพเจ้า

    พอโตมาเวลาอ่านหนังสือแปล ข้าพเจ้ากลับดูชื่อคนแต่งเป็นหลัก ส่วนใครแปลข้าพเจ้าไม่ค่อยสนใจ แต่ใช่ว่านักเขียนคนนั้นคนนี้เขียนข้าพเจ้าจะซื้อมาอ่านหมด ข้าพเจ้าเลือกอ่านเฉพาะเรื่องที่ข้าพเจ้าสนใจ และอยากอ่าน ณ ห้วงอารมณ์นั้นๆ (ไม่รู้คุณแพทเป็นหรือเปล่า ว่าบางอารมณ์เราอยากอ่านหนังสือแนวนี้ บางอารมณ์อยากอ่านแนวนั้น)

    ระยะหลังๆ ที่หัดแปลหนังสือ เวลาอ่านหนังสือแปลข้าพเจ้าจึงเริ่มใส่ใจในสำนวนแปลของแต่ละท่าน บางเล่มข้าพเจ้าอ่านแล้ว ทนอ่านจนจบไม่ไหวจริงๆ แปลได้ไม่ดีเลยเจ้าค่ะ จึงเริ่มให้ความสำคัญกับนักแปลควบคู่ไปกับนักเขียน

    ถ้าจะให้ตอบจริงๆ ว่ามีนักแปลคนไหนไหมที่ข้าพเจ้าชื่นชอบเป็นพิเศษ ข้าพเจ้าขอตอบว่าชอบสำนวนการแปลของ “เสถียรโกเศศและนาคะประทีป” ที่แปลเรื่อง “กามนิต วาสิฎฐี” เจ้าค่ะ คิดว่าตายแล้วเกิดใหม่สิบชาติก็คงแปลได้ไม่ดีเท่านี้

    ปรกติหนังสือแปลที่ข้าพเจ้าชอบอ่านจะเป็นแนววรรณกรรมเยาวชน (หนังสือแปลแนวอื่นข้าพเจ้าไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ไม่ค่อยถูกจริต) ข้าพเจ้าชอบอ่านหนังสือแปลของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เท่าที่อ่านๆ มารู้สึกว่านักแปลทุกท่านแปลได้ดี อาจเป็นเพราะสำนักพิมพ์พิถีพิถันในการเลือกนักแปล และมีบรรณาธิการต้นฉบับแปลที่เก่งฉกาจ เวลาข้าพเจ้าเลือกซื้อหนังสือของสำนักพิมพ์นี้จึงไม่ค่อยได้สนใจเท่าไหร่ว่าใครแปล ดูเนื้อเรื่องเป็นหลักค่ะ

    ขอบคุณที่แวะเข้ามาพูดคุยด้วยค่ะ
    เริ่มอยากแปลงานขึ้นบ้างแล้วใช่ไหมเจ้าคะ
    การได้พูดคุยกับคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน ช่วยให้เกิดแรงฮึดขึ้นได้
    วันไหนกลับมาแปลงานอีกครั้ง แวะมาบอกด้วยนะคะ จะแวะไปเป็นกำลังใจให้ค่ะ

  4. สวัสดีค่ะ จขส.

    ประเด็นเรื่องอ่านหนังสือแนวไหนเป็นไปตามอารมณ์
    อยากบอกว่า เป็นเช่นเดียวกันค่ะ ^^

    สำหรับข้าพเจ้า
    เรื่อง + สำนวนแปล + การจัดรูปเล่ม
    สำคัญพอๆ กันค่ะ

    “เสถียรโกเศศและนาคะประทีป” ที่แปลเรื่อง “กามนิต วาสิฎฐี”
    ไม่เคยอ่านเลยเจ้าค่ะ
    แต่เข้าใจว่า ถ้าจะเรียกว่า ระดับเทพ ก็คงใช่เลย ^^

    ส่วนหนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ
    เพิ่งจะมาซื้ออ่านก็ “ไหม” กับ “ไร้เลือด” นี่เอง
    และได้รู้ว่า คุณงามพรรณ เธอแปลงาน หนักๆ ยากๆ ได้ดีกว่าวรรณกรรมเยาวชนเสียอีก ^^

    ตอนนี้ ชอบงานของ คุณอเลซซานโดร บาริกโก (ถ้าจำไม่ผิดนะ) โดยเฉพาะ ‘ไหม’
    อยากเขียนน้อย แต่มาก
    อย่างนั้นได้บ้างเจ้าค่ะ

    ^^

    แล้วจะมาคุยอีกนะคะ

    ปล. แรงที่จะหันมาแปลงาน คงยากนัก
    เพราะว่าเป็นปลาทอง จำความหมายศัพท์ มิได้ เจ้าค่ะ ^^ นั่นจึงเป็นอุปสรรค สำคัญยิ่ง

  5. ดูท่าทางคุณแพทจะชอบอ่านหนังสือหนักๆ ^ ^
    ขนาดอ่านหนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อยังเลือกอ่านแต่เรื่องหนักๆ
    ชอบอ่านงานของนักเขียนอิตาเลียนหรือเจ้าคะ หรืออ่านเพราะคุณงามพรรณเป็นคนแปล

    เรื่อง “ไหม” ข้าพเจ้าเคยอ่านเมื่อสิบปีก่อน จำไม่ได้แล้วว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ส่วนเรื่อง “ไร้เลือด” หยิบๆ จับๆ อยู่สองสามครั้ง แต่ยังไม่ได้ฤกษ์ซื้อมาอ่าน เพราะดูท่าทางเรื่องค่อนข้างหนัก ข้าพเจ้าชอบอ่านเรื่องเบาสมองเจ้าค่ะ อ่านแล้วสบายใจดี ชีวิตคนเราทุกวันนี้ก็หนักหนาพออยู่แล้ว ไหนๆ จะหลุดเข้าไปในโลกจินตนาการ ข้าพเจ้าเลยขอหลุดโลกไปเลย ฮ่า ฮ่า

    ถ้าคุณแพทเป็นปลาทอง ถ้าอย่างนั้นคุณแพทเจอเพื่อนแล้วเจ้าค่ะ
    ข้าพเจ้าเองเพื่อนๆ ตั้งชื่อให้ว่าปลาทองเหมือนกัน เพราะความจำสั้น
    จำอะไรไม่ค่อยได้ มีอยู่ครั้งหนึ่งไปดูหนังกับเพื่อน วันรุ่งขึ้นข้าพเจ้าจำไม่ได้แล้วว่าเมื่อวานไปดูหนังเรื่องอะไรมา (จำไม่ได้ทั้งชื่อเรื่องและเนื้อเรื่อง)

    เรื่องคำศํพท์จึงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับข้าพเจ้าเช่นกัน
    ข้าพเจ้ารู้ความหมายศัพท์ค่อนข้างน้อย ยิ่งคำไหนไม่ค่อยได้ใช้ ไม่นานก็ลืม บางวันกว่าจะแปลได้หนึ่งย่อหน้า ข้าพเจ้าเปิดดิคชันนารีจนเหนื่อย นี่อาศัยว่ามีโอกาสได้ทำงานกับเจ้าของภาษาเลยได้ฝึกฝนทุกวัน แต่ส่วนมากก็คุยกันเรื่องงาน ซึ่งศัพท์ที่ใช้ก็เดิมๆ วนเวียนอยู่ไม่กี่คำ

    ตกลงตอนนี้คุณแพทเปลี่ยนใจอยากเป็นนักเขียนมากกว่าเป็นนักแปลใช่ไหมเจ้าคะ ถึงบอกว่าอยากเขียนได้อย่างนั้นบ้าง

    เห็นคุณแพทเข้าไปคุยกับท่านธุลีดินบ่อยๆ ถ้าอยากหัดเขียน ไปนั่งโม้ที่กระท่อมไม้ไผ่บ่อยๆ เดี๋ยวเขียนคล่องเอง รายนั้นเขาคุยเก่ง (ไม่รู้หาอะไรมาคุยได้หนักหนา ฮ่า ฮ่า)

    ดีใจที่มีเพื่อนคุยเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนค่ะ

  6. วันนี้วันพฤ.

    เจ้าของสวนไปไหนเสียนี่กระไร?

  7. เพิ่งกลับถึงบ้านเจ้าค่ะท่านพี่
    ไปทำหน้าที่เลขานินทานายมา
    วันนี้อ่านขำขันไปก่อนแล้วกันนะเจ้าคะ
    เพิ่งปั่นงานก้าวฯ เสร็จเมื่อวาน ไม่มีเวลาแปลงานเลย


Leave a reply to ningnung Cancel reply

Categories